สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

การซื้อขายที่ดิน ภบท5

แม้ว่าภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีนี้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2556 ว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาท ภ.บ.ท. 5 เลขสำรวจที่ 250 หมู่ที่ 4 ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี มาจาก ส. สามีจำเลย โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้วได้มีการเปลี่ยนชื่อโจทก์เป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินแทนจำเลย ผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตนิคมสหกรณ์ชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ซึ่งประชาชนอาจมีสิทธิครอบครองได้โดยการครอบครอง แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์มอบให้จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์เป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2550 จนจำเลยแจ้งต่อหน่วยงานราชการว่าเป็นผู้ถือครองที่ดินพิพาท และนำที่ดินพิพาทไปแบ่งขายตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2556 ให้ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 12 และผู้มีชื่อ จากนั้นผู้ร้องที่ 12 และผู้ร้องที่ 1 แบ่งขายที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องที่ 6 และที่ 8 ตามลำดับ และผู้ร้องที่ 3 ที่ 14 และที่ 15 ซื้อที่ดินต่อจากผู้มีชื่อโดยโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้าน การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยผู้เป็นตัวแทนทำการออกนอกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โจทก์จึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลย ซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนของโจทก์และได้ขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 เมื่อผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยมีเจตนายึดถือเพื่อตน ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและสามารถอ้างอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) (เดิม) มาใช้ยันโจทก์ได้ กรณีจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ไม่อยู่ในฐานะเป็นบริวารของจำเลย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4379/2562

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ภ.บ.ท.5 เลขสำรวจที่ 250 หมู่ที่ 4 ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยและให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้ออกหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของจำเลยยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลชั้นต้นภายใน 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศ

ผู้ร้องทั้งสิบห้ายื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องทั้งสิบห้าไม่ใช่บริวารของจำเลยและมีอำนาจพิเศษที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) (เดิม)

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสิบห้า ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้ร้องทั้งสิบห้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสิบห้า ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้องทั้งสิบห้าใหม่ แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่

โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสิบห้า

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ไม่ใช่บริวารของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจบังคับให้ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ออกจากที่ดินที่ครอบครองตามแผนที่พิพาท ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 13 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์และผู้ร้องที่ 13 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เมื่อปี 2530 อธิบดีกรมป่าไม้อนุญาตให้กรมส่งเสริมสหกรณ์นำที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าชัยบาดาลไปจัดสรรให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ แต่ยังมิได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 เมื่อระหว่างปี 2547 ถึง 2549 กรมส่งเสริมสหกรณ์จ้างช่างรังวัดเอกชนสำรวจว่าประชาชนเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าชัยบาดาลมากน้อยเพียงใด จากการสำรวจปรากฏว่า จำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือครองที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตดำเนินงานนิคมสหกรณ์ชัยบาดาล เนื้อที่ 17 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ซื้อที่ดินพิพาทบางส่วนและถือครองที่ดินมีเนื้อที่และแนวเขตตามที่ระบุในแผนที่พิพาท โดยผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ถึงที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 12 ซื้อที่ดินจากจำเลย ผู้ร้องที่ 3 ที่ 14 และที่ 15 ซื้อที่ดินต่อจากผู้มีชื่อซึ่งซื้อที่ดินต่อจากจำเลย ผู้ร้องที่ 6 ซื้อที่ดินบางส่วนต่อจากผู้ร้องที่ 12 และผู้ร้องที่ 8 ซื้อที่ดินบางส่วนต่อจากผู้ร้องที่ 1 โดยได้เปลี่ยนชื่อผู้ขอทำประโยชน์เป็นชื่อของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตนิคมสหกรณ์ชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีนี้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายสละสามีจำเลย โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้ว ได้มีการเปลี่ยนชื่อโจทก์เป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินแทนจำเลย

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 เป็นบริวารของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เมื่อปี 2530 อธิบดีกรมป่าไม้อนุญาตให้กรมส่งเสริมสหกรณ์นำที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าชัยบาดาลไปจัดสรรให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์แต่ยังมิได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ แต่ประชาชนอาจมีสิทธิครอบครองได้โดยการครอบครอง ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของนายชำนาญ ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์ชัยบาดาล พยานผู้ร้องว่า ระหว่างปี 2547 ถึงปี 2549 กรมส่งเสริมสหกรณ์จ้างช่างรังวัดเอกชนทำการสำรวจว่าประชาชนครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวมากน้อยเพียงใด และมีการจัดทำแผนที่แสดงอาณาเขตและเนื้อที่ที่ผู้ครอบครองแต่ละรายทำประโยชน์ปรากฏว่า จำเลยเป็นผู้ถือครองที่ดินเนื้อที่ 17 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา ทั้งนางสนาม อดีตผู้ใหญ่บ้านพยานผู้ร้องเบิกความว่า พยานไม่รู้จักโจทก์แต่รู้จักจำเลยเนื่องจากเห็นจำเลยมาดูที่ดินของตนโดยปลูกมันสำปะหลังและผักหวาน ซึ่งสองคล้องกับที่นายประเสริฐ ผู้ใหญ่บ้าน พยานผู้ร้องเบิกความว่า ก่อนที่พยานจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน พยานเห็นจำเลยก่อสร้างห้องแถวหลายห้องในที่ดินพิพาท ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โดยโจทก์มิได้เข้าครอบครองตามความเป็นจริง อันทำให้บุคคลทั่วไปเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เช่นนี้ ถึงแม้โจทก์จะอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยให้จำเลยอยู่อาศัยและเสียภาษีบำรุงท้องที่แทนโจทก์ก็ตาม แต่การที่โจทก์มอบให้จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์เป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2550 จนจำเลยแจ้งต่อหน่วยราชการว่าเป็นผู้ถือครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรอง และนำที่ดินพิพาทไปแบ่งขายตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2556 ให้แก่ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 12 และผู้มีชื่อ จากนั้นผู้ร้องที่ 12 และผู้ร้องที่ 1 แบ่งขายที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องที่ 6 และที่ 8 ตามลำดับ และผู้ร้องที่ 3 ที่ 14 และที่ 15 ซื้อที่ดินต่อจากผู้มีชื่อโดยโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้าน การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยผู้เป็นตัวแทนทำการออกนอกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โจทก์จึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลย ซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนของโจทก์และได้ขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 เมื่อผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยมีเจตนายึดถือเพื่อตน ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและสามารถอ้างอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) (เดิม) มาใช้ยันโจทก์ได้ กรณีจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ไม่อยู่ในฐานะเป็นบริวารของจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ